“ไปดูตึก” ใครที่มีเพื่อนเป็นสถาปนิกน่าจะได้ยินคำพูดนี้อยู่บ่อยๆ พร้อมกับคำถามที่อาจจะเกิดขึ้นในหัวว่า “ไปดูตึกทำไม” “การดูตึกคืออะไร” หรือ “ไปแล้วได้อะไร” เมื่อมันคือการไปดูตึกอาจจะเป็นเพียงห้างสรรพสินค้า อาคารขององค์กรสักองค์กรหนึ่ง หรือกระทั่งบ้านของใครก็ไม่รู้ในเมืองนั้นๆ
อันที่จริงการเดินทางไปดูตึกๆ หนึ่ง ก็ไม่ได้แตกต่างจากการไปเที่ยวชมแลนด์มาร์กของเมือง การมุ่งหน้าสู่ป่าเขา หรือการปักหมุดร้านอาหารร้านดัง ทั้งหมดคือการมองหาประสบการณ์ใหม่ๆ ในพื้นที่ที่เราไม่ได้อาศัยอยู่เป็นประจำ เพียงแต่สถาปนิกอาจจะมีความสนใจในการท่องเที่ยวที่เฉพาะเจาะจง พวกเขามองงานสถาปัตยกรรมหรืออาคารแตกต่างจากคนทั่วไป หลายคนมองหาความงามเชิงพื้นที่ สัดส่วน ขนาด ความสูง จนถึงวัสดุและโครงสร้าง สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นองค์ประกอบที่ทำให้สถาปนิกชอบไปดูตึก
แม้เราจะอยู่ในโลกที่สามารถหาแรงบันดาลใจขณะที่นั่งอยู่หน้าโน้ตบุ๊คในร้านกาแฟด้วยซ้ำ แต่สถาปนิกกับการไปดูตึกเหมือนสิ่งที่แยกออกจากกันไม่ได้ และแน่นอนมันมีความสำคัญอย่างมากที่สถาปนิกต้องเดินทางเพื่อเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในพื้นที่ เพื่อสำรวจและเพื่อที่จะเรียนรู้วิธีการออกแบบจากสถาปนิกคนอื่นๆ อย่างการใช้พื้นที่ หรือการไปสัมผัสถึงความงามในการใช้สัดส่วน วัสดุ และ โครงสร้าง เพราะสิ่งเหล่านี้เองจะช่วยหล่อหลอม และทำให้เราค้นพบรูปแบบสถาปัตยกรรมที่ตรงกับจริตของเรา
ความน่าสนใจอีกมิตินึงของการดูตึกคือการรับรู้เรื่องราวและประวัติของตึกและตัวสถาปนิกผู้ออกแบบ การไปดูสถาปัตยกรรมนั้นมันไม่เกี่ยวกับว่าตึกสวยหรือไม่สวย แตกต่างหรือธรรมดา เพราะเราต้องย้อนกลับไปมองถึงบริบทในช่วงเวลาที่ตึกถูกออกแบบและสร้างเสร็จ ว่าอะไรคือสิ่งที่ขับเคลื่อนการออกแบบในขณะนั้น ในวงการสถาปัตยกรรมจะมีวลีที่ว่า สถาปัตยกรรมนั้นคือจิตวิญญาณแห่งกาลเวลา หรือ “the spirit of the times” หรือที่ในภาษาเยอรมันเรียกว่า Zeitgeist กล่าวคือ ตึกและอาคารก็คือสิ่งที่บ่งบอกสภาพสังคม วัฒนธรรม ความเชื่อ และ ความเป็นอยู่ของผู้คนในแต่ละยุคได้เป็นอย่างดี
หากคุณเดินทางมาที่เดลฟ์ (Delft) เมืองทางตอนใต้ของประเทศเนเธอแลนด์ซึ่งห่างจากอัมสเตอร์ดัมประมาณสี่สิบนาทีด้วยรถไฟ คุณจะพบกับสถานีรถไฟของเมืองที่สร้างโดยบริษัทสถาปนิกสัญชาติดัชซ์ Mecanoo ออกแบบในปี ค.ศ. 2006-2010 และสร้างเสร็จในปีค.ศ. 2017
เมื่อคุณเดินออกจากขบวนรถไฟขึ้นมายังโถงชานชาลา และเงยหน้าขึ้นไปจะพบกับโถงเพดานโค้งขนาดใหญ่ที่แสดงกราฟฟิกแผนที่เก่าของเมืองคอยต้อนรับและบอกเล่าเรื่องราวของเมืองในอดีตผ่านสถาปัตยกรรม ช่องแสงที่เจาะผ่านหลังคา เซรามิกโมเสกสีน้ำเงินที่ติดอยู่ตามเสาของตัวอาคาร ล้วนเป็นส่วนประกอบในการบอกเล่าเรื่องราวของตัวเมือง อวัจนภาษาเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่น่าจดจำสำหรับสถาปนิก
ด้วยความที่เดลฟ์เป็นเมืองขนาดเล็ก อาคารบ้านพักอาศัยส่วนใหญ่มีความสูงเพียง 3-4 ชั้น การทำให้สถานีรถไฟซึ่งเป็นอาคารขนาดใหญ่กลมกลืนไปกับตัวเมืองโดยรอบนั้นเป็นวิธีการที่น่าสนใจ โดยสถาปนิกใช้การแบ่งช่องแสงออกเป็นส่วนๆ เพื่อแบ่งเส้นระนาบของตัวอาคาร เพื่อซ่อนความยาวที่แท้จริงของอาคารจากมุมมองของถนน และยังเป็นการเพิ่มแสงธรรมชาติให้กับพื้นที่ออฟฟิศบริเวณชั้นสองของตัวอาคาร การลดความสูงที่มุมสองด้านของตัวอาคารเพื่อปรับให้เข้ากับสัดส่วนความสูงและระดับสายตาของคน และบอกตำแหน่งทางเข้าออกให้กับตัวอาคารชัดเจนขึ้นอีกด้วย แม้ตัวสถานีรถไฟจะเป็นอาคารที่มีขนาดใหญ่แต่กลับกลมกลืนไปกับบริบทโดยรอบได้อย่างแนบเนียน วิธีการออกแบบเหล่านี้เองที่จะสามาถรับรู้และสัมผัสได้จากการเดินทางมาดูตึกด้วยตาและประสาทการรับรู้ของตนเอง
ถัดจากเดลฟ์ไปทางตอนใต้สู่เมืองรอตเทอร์ดาม มีตลาดนัดที่น่าไปเยี่ยมชมสักครั้งอย่างยิ่ง ตึกนี้เป็นอาคารผสมระหว่างที่พักอาศัย ตลาด และร้านอาหาร ออกแบบโดยสถาปนิกสัญชาติดัชซ์ MVRDV ในปีค.ศ. 2004 และสร้างเสร็จในปีค.ศ. 2014 ความพิเศษของตลาดนัดนี้อยู่ที่รูปทรงของตัวสถาปัตยกรรมที่สถาปนิกต้องการจะฉีกรูปแบบเดิมๆ ของตลาดนัดแบบยุโรปและสร้างจุดเด่นให้กับเมือง รูปทรงที่คล้ายทรงกระบอกผ่าครึ่ง ตรงกลางเป็นโถงขนาดใหญ่ที่มีความสูงกว่า 30 เมตรทำให้ผู้ใช้งานรับรู้ถึงสัดส่วนทางสถาปัตยกรรมที่ชัดเจนและรู้สึกว่าตัวเราเองเล็กนิดเดียว ซึ่งรูปทรงในลักษณะนี้เรามักจะพบในงานสถาปัตยกรรมทางศาสนา
อีกสิ่งที่สร้างสีสันและชีวิตให้กับตลาดแห่งนี้คือภาพวาดสามมิติ ที่ถูกพิมพ์ลงไปบนแผ่นอลูมิเนียมคอมโพสิตกว่า 4000 แผ่นทั้งเพดานและผนังของโถงตลาด โดยเป็นภาพวาดเกี่ยวกับวัตถุดิบและอาหารที่ตกลงมาจากท้องฟ้า การใช้รูปสามมิติที่มีท้องฟ้าบนเพดานนี้เองที่สร้างมิติลวงที่ทำให้โถงของอาคารยิ่งดูสูงและใหญ่ขึ้นไปอีก เชื่อว่าแม้จะไม่ใช่สถาปนิก เมื่อได้เยือนตลาดนี้ก็น่าจะซาบซึ้งไปกับสิ่งที่ผู้ออกแบบพยายามสื่อสารออกมาได้แน่ๆ
อย่างไรก็ตาม แม้การไปดูตึกจะสำคัญกับเราเหล่าสถาปนิก แต่ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าบางครั้งสถาปนิกก็มุ่งแต่จะไปดูตึกหรือเพียงต้องการที่จะถ่ายรูปคู่กับตึกที่ออกแบบโดยสถาปนิกที่มีชื่อเสียง จนหลงลืมที่จะสังเกตสิ่งแวดล้อมและผู้คนที่ใช้งานอาคาร ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย เพราะในความเป็นจริงแล้วการสร้างสถาปัตยกรรมก็เพื่อตอบสนองการใช้งานของผู้คน แต่น้อยครั้งที่ผู้ใช้งานจะมีส่วมร่วมใบการออกแบบ
และหลายครั้งสถาปนิกก็มักหมกหมุ่นอยู่กับทฤษฎีทางสถาปัตยกรรมที่ให้ความสำคัญในเรื่องความงาม สัดส่วน หรือสัจจะของการใช้วัสดุ จนละเลยความต้องการของผู้ใช้งานที่แท้จริง เราควรจะตั้งคำถามว่าคนส่วนใหญ่นั้นชอบมันหรือไม่ หรือมันมีประสิทธิภาพแค่ไหน เสียงสะท้อนจากผู้ใช้งานนี้เองคือข้อมูลที่สถาปนิกควรรับรู้ และเอามาประยุกต์ใช้ในงานออกแบบต่อๆ ไป เพราะระยะเวลาของออกแบบและก่อสร้างอาจกินเวลานานกว่า10 ปี บางครั้งแนวคิดที่เราคิดไว้อาจจะไม่ได้เป็นตามนั้น
ยกตัวอย่างเช่น โถงตลาดนัดของ MVRDV ที่แนวคิดตอนเริ่มต้นนั้นคือการนำสินค้าจากเกษตรกรมาขายโดยตรง แต่ด้วยความที่ราคาค่าเช่าของตลาดสูงเกินไป ทำให้พวกเขาสู้ราคาไม่ไหวและย้ายออก ทำให้สุดท้ายแล้วตลาดแห่งนี้กลายเป็นตลาดนัดของนายทุนและผู้ประกอบการ อาจคล้ายกับในบ้านเราที่มีแนวคิดเกี่ยวการพัฒนาย่าน creative district แต่สุดท้ายแล้วกลับกลายเป็นที่ๆ ขายกาแฟแพงๆ และราคาเช่าสูงกว่าที่ตัวศิลปินจะรับไหว
ดังนั้นข้อมูลหลังการใช้งานจึงเป็นสิ่งที่สำคัญเพราะมันสามารถช่วยให้ทั้งสถาปนิกและเจ้าของสถานที่เองรู้ว่า ไอเดียที่เราคิดไว้ ในเชิงปฎิบัตินั้นมันเป็นไปได้หรือไม่ เพราะสุดท้าย สำหรับผู้เขียนแล้ว สถาปัตยกรรมที่ดีน่าจะเป็นงานที่สร้างประโยชน์ให้กับผู้คนในยุคๆ นั้นเสียมากกว่าจะเอาไว้เชิดหน้าชูตาผู้ออกแบบและผู้ประกอบการแต่เพียงอย่างเดียว