งานแสดงนิทรรศการ Dutch Design Week (DDW) ไม่ใช่เป็นเพียงการติดฉลากในงานออกแบบหรือวิธีการออกแบบของชาวดัตช์ แต่งาน DDW คือการสะท้อนวัฒนธรรมและทัศนคติที่เป็นลักษณะเฉพาะของชาวเนเธอร์แลนด์ ผ่านออกงานนิทรรศการที่มุ่งเน้นไปที่การออกแบบในอนาคตและอนาคตของการออกแบบ
สำหรับชาวดัตช์นั้น Dutch Design เป็นทัศนคติ (attitude) ไม่ได้หมายถึงสัญชาติ การมองไปในอนาคตและตั้งคำถามที่ถูกต้องเพื่อหาคำตอบในการแก้ไขปัญหาหรือที่เรียกว่า (solution-oriented approach) เป็นทัศนคติในการออกแบบของชาวเนเธอร์แลนด์ นอกจากนั้นการรับฟังและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเป็นสิ่งที่ชาวดัตช์นั้นให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก
Dutch Design Week จัดขึ้นที่เมือง Eindhoven ประเทศเนเธอร์แลนด์ ทุกปีในฤดูใบไม้ร่วง ในปี 2019 นี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 19 – 27 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยมีงานนิทรรศการ งานจัดแสดงนวัตกรรม งานบรรยาย งานสถาปัตยกรรมชั่วคราว (pavilion) รวมถึง บาร์ และ ร้านค้าต่างๆ กระจายไปทั่วเมือง โดยภาษิตของงานในปี 2019 นี้คือ “ถ้าไม่ใช่ตอนนี้…แล้วจะเมื่อไร” (if not now, then when?) ซึ่งต่อเนื่องมาจากปี 2018 “ถ้าไม่ใช่พวกเรา…แล้วใครล่ะ” (if not us, then who?) โดยตัวงานสะท้อนถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะแสดงศักยภาพของนักการออกแบบที่ส่งเสริมอนาคต การออกแบบที่ใส่ใจความสมดุลของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
หนึ่งในไฮไลท์ของงานนี้ อยู่ที่เมือง Eindhoven นั่นคือ Strijp-R พื้นที่โรงงานเก่าที่เคยทำเครื่องเซรามิก ชิ้นส่วนประกอบวิทยุและทีวี ซึ่งในขณะนี้กำลังถูกพัฒนาและฟื้นฟูให้เป็นพื้นที่อยู่อาศัย สันทนาการ และการกีฬา การเก็บรักษาไว้ซึ่งมรดกทางประวัติศาสตร์ของเมืองอุตสาหกรรมนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญในการฟื้นฟูครั้งที่นี้
ซึ่งก่อนที่การปรับปรุงนี้จะถูกอนุมัตินั้นจะต้องผ่านการค้นคว้าและศึกษาถึงคุณค่าและเอกลักษณ์ของเมืองก่อน
ภายในพื้นที่โครงสร้างเก่าของอาคาร เสาและ facade (ส่วนหน้าของอาคาร) รวมทั้งโครงสร้างเหล็กรอบๆ พื้นที่ เช่นท่อน้ำและสายไฟ ได้ถูกเก็บไว้เป็นส่วนหนึ่งในเอกลักษณ์ของเมืองนี้ ขณะที่เราเดินไปรอบๆ เราจะรับรู้ถึงความดิบของวัสดุ กลิ่นอายของสนิม โครงเหล็กและท่อมากมายที่พันพาดอยู่บนหัวของเราขณะที่เราเดินไปตามทางเดิน ล้อมรอบไปด้วยตึกที่สร้างด้วยอิฐและกระจก ทำให้เราหวนคิดถึงเสียงเครื่องจักรและภาพของเหล่าคนงาน ในสมัยที่อุตสาหกรรมแห่งนี้กำลังเติบโต ตึกเก่าที่สร้างด้วยอิฐและกระจกสูงเพื่อรับแสงถูกปรับเปลี่ยนให้กลายเป็นที่จัดนิทรรศการ หนึ่งในสถานที่จัดงานนำเอานั่งร้านและตาข่ายสีฟ้ามาคลุมตัวตึกก็สามารถเปลี่ยนรูปแบบโปรแกรมของตึกที่กำลังถูกปรับปรุงให้กลายเป็นที่จัดแสดงงานออกแบบ สร้างบรรยากาศที่ดึงดูดผู้คนได้ดีทีเดียว
คงปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วงหลายปีที่ผ่าน ผู้คนได้ตื่นตัวต่อสภาวะร้อนโลก อากาศที่เปลี่ยนแปลง รวมทั้งการปล่อย ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ต่างๆ การรณรงค์ลดใช้ถุงพสาสติก และหันมาใช้ถุงผ้า เป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่เป็นปัจเจกนิยม การเคลื่อนไหวสีเขียวถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือการตลาดของผลิตภัณฑ์ สินค้า และบริการต่างๆ การฟอกเขียว (greenwashing) ที่ทำให้สินค้าหรือบริการดูเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่ในความเป็นจริงกระบวนการผลิตหรือแรงงานที่ใช้นั้น ยังคงผลิตและปล่อยก๊าซเรือนกระจก และ คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ในจำนวนที่เท่าเดิม แน่นอนการส่งเสริมให้คนปรับเปลี่ยนวิถีในการดำรงชีวิตด้วย ลด ใช้ซ้ำ และรีไซเคิล นั้นเป็นเรื่องพื้นฐานที่ทุกคนควรทำ แต่คำถามคืออะไรคือก้าวต่อไปของ green movement ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะมองภาพในวงกว้างออกไปจากพฤติกรรมส่วนบุคคล ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ภาครัฐจะสร้างข้อตกลงและนโยบายสิ่งแวดล้อมที่มีประสิทธิภาพที่สามารถสร้างโอกาสใหม่ๆ กับเศรษฐกิจสีเขียว ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะนำเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์มาพัฒนานวัตกรรมและงานวิจัยที่สามารถเปลี่ยนวิธีการผลิตหรือย่อยสลายวัสดุที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีดำเนินชีวิตในวงกว้าง ถ้าไม่ใช่ตอนนี้…แล้วจะเป็นเมื่อไร
ถัดจากเดลฟ์ไปทางตอนใต้สู่เมืองรอตเทอร์ดาม มีตลาดนัดที่น่าไปเยี่ยมชมสักครั้งอย่างยิ่ง ตึกนี้เป็นอาคารผสมระหว่างที่พักอาศัย ตลาด และร้านอาหาร ออกแบบโดยสถาปนิกสัญชาติดัชซ์ MVRDV ในปีค.ศ. 2004 และสร้างเสร็จในปีค.ศ. 2014 ความพิเศษของตลาดนัดนี้อยู่ที่รูปทรงของตัวสถาปัตยกรรมที่สถาปนิกต้องการจะฉีกรูปแบบเดิมๆ ของตลาดนัดแบบยุโรปและสร้างจุดเด่นให้กับเมือง รูปทรงที่คล้ายทรงกระบอกผ่าครึ่ง ตรงกลางเป็นโถงขนาดใหญ่ที่มีความสูงกว่า 30 เมตรทำให้ผู้ใช้งานรับรู้ถึงสัดส่วนทางสถาปัตยกรรมที่ชัดเจนและรู้สึกว่าตัวเราเองเล็กนิดเดียว ซึ่งรูปทรงในลักษณะนี้เรามักจะพบในงานสถาปัตยกรรมทางศาสนา
อีกสิ่งที่สร้างสีสันและชีวิตให้กับตลาดแห่งนี้คือภาพวาดสามมิติ ที่ถูกพิมพ์ลงไปบนแผ่นอลูมิเนียมคอมโพสิตกว่า 4000 แผ่นทั้งเพดานและผนังของโถงตลาด โดยเป็นภาพวาดเกี่ยวกับวัตถุดิบและอาหารที่ตกลงมาจากท้องฟ้า การใช้รูปสามมิติที่มีท้องฟ้าบนเพดานนี้เองที่สร้างมิติลวงที่ทำให้โถงของอาคารยิ่งดูสูงและใหญ่ขึ้นไปอีก เชื่อว่าแม้จะไม่ใช่สถาปนิก เมื่อได้เยือนตลาดนี้ก็น่าจะซาบซึ้งไปกับสิ่งที่ผู้ออกแบบพยายามสื่อสารออกมาได้แน่ๆ
ที่ตั้งอยู่ในใจกลางของโซนฟื้นฟู Eindhoven Strijp-R ใน DDW19 คือพาวิลเลียนที่สร้างจากไม้ทั้งหมด ภายใต้ชื่อ Biobasecamp เพื่อกระตุ้นแนวคิดสถาปัตยกรรมชีวภาพในอนาคต ตัวพาวิลเลียนถูกออกแบบเป็นสวนดาดฟ้าไว้เป็นจุดชมวิว โดยพื้นและบันไดสร้างด้วยไม้แผ่นตามขนาดไม้ 16 เมตร x 3.5 เมตร โดยแผ่นไม้เหล่านี้ประกอบด้วยวิธี cross-laminated (CLT) ที่สามารถเพิ่มความหนาและขนาดได้ตามต้องการ สวนชั้นลอยนี้ตั้งอยู่บนโครงสร้างของลำต้นของต้นไม้ (Poplar tree) ลำต้นไม้เหล่าถูกตัดลงเพื่อความปลอดภัยต่อผู้ใช้รถใช้ถนน ระหว่างทางด่วนมอเตอร์เวย์จากเมือง Den Bosch สู่เมือง Eindhoven
โดยตัวใต้ถุนนี้เป็นที่ใช้จัดนิทรรศการเกี่ยวกับไม้ แบบลำลองสถาปัตยกรรมที่สร้างด้วยไม้ รวมถึงบาร์และคาเฟ่ โดยตัวสถาปนิก Marco Vermeulen หวังว่าตัวพาวิลเลียนนี้จะเป็นสื่อในการรณรงค์ให้อุตสาหกรรมก่อสร้าง รัฐ และประชาชน เห็นถึงประโยชน์ของสถาปัตยกรรมไม้ เขายังกล่าวถึงปัญหาการแคลนที่อยู่อาศัยในอนาคตและการใช้ไม้เป็นวัสดุโครงสร้างที่สามารถสะสมคาร์บอนเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศอีกด้วย
เขากล่าวว่า “บ้านหนึ่งหลังจะใช้ไม้โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 50 ลูกบาศก์เมตร ถ้าเฉลี่ยจากพื้นที่ป่าเศรษฐกิจของเนเธอร์แลนด์ซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 140,000 เฮคเตอร์ จะถ้าสร้างบ้านได้ปีละ 22,400 หลัง”
อย่างไรก็ตามวัสดุชีวภาพนั้นไม่ได้จำกัดอยู่แค่ไม้เท่านั้น ถัดออกไปไม่ไกลจาก Biobasecamp เราจะพบวัตถุทรงกลมภายใต้ชื่อ The Growing Pavillion ออกแบบโดย บริษัท Company New Heroes โดยตัวพาวิลเลียนนั้นสร้างจากวัสดุชีวภาพหลายประเภท ไม้ถูกใช้เป็นโครงสร้างของอาคาร แผ่นพื้นทำจากการบีบอัดต้นพืชธูปฤาษี (cattail plant) หลังคากันน้ำด้วยผ้าฝ้าย เฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากกระดานฟางข้าว และผนังส่วนนอก (facade) ทำมาจากเส้นใยจากเชื้อรา mycelium
ผิวสัมผัสและสีของวัสดุอินทรีย์ทำให้ผนังมีเอกลักษณะเฉพาะตัว ผนังด้านนอกเริ่มต้นจากการปลูกเห็ดนางรมโดยเส้นใยในรากของเห็ดเพิ่มความแข็งแรงให้กับตัวผนัง นอกจากนี้ภายในในงานผู้เข้าชมยังสามารถเก็บเห็ดนางรมที่ขึ้นจากวัสดุของผนังกลับบ้านได้อีกด้วย โดยหนึ่งในสถาปนิก Pascal Leboucq ผู้ออกแบบหวังว่าผนังเส้นใยเชื้อรานี้จะไม่เป็นเพียงตัวอย่างของนวัตกรรมในงานนี้เท่านั้น แต่เค้าอยากต่อยอดการใช้วัสดุชีวภาพให้เป็นหนึ่งในทางเลือกของอุตสาหกรรมก่อสร้าง ด้วยหลักการเดียวกับการใช้ไม้ในงานสถาปัตยกรรมที่กล่าวไว้ช้างต้น วัสดุอินทรีย์สามารถกักเก็บก๊าซ CO2 ไว้ในตัวมัน เป็นการช่วยลดระดับการปล่อยก๊าซ CO2 ในชั้นบรรยากาศนั้นเอง
การเลือกปัญหาที่ถูกต้องเป็นสิ่งสำคัญในงานออกแบบ งานวิจัยค้นคว้าในสิ่งเล็กๆ ที่สามารถสร้างผลลัพธ์ในวงกว้าง คือเอกลักษณ์และทัศนคติในงานออกแบบของชาวดัตช์ Biobasecamp และ The Growing Pavillion อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นในการกระุต้นให้ ภาครัฐ เอกชน และ ประชาชน เห็นสิ่งโอกาสในอนาคตของอุตสาหกรรมก่อสร้างในการปรับตัวต่อภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทุกวันนี้เราพูดถึงการติดฉลากอาคารเขียว การให้รางวัลสำหรับตึกประหยัดพลังงาน แต่หากตึกเหล่านั้นต้องมีการลงทุนกับอุปกรณ์ การติดตั้งเทคโนโลยีที่มีราคาสูงเพื่อทำให้ตึกได้ติดฉลากนั้น สิ่งเหล่าอาจกลับกลายเป็นดาบสองคมที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาวได้
ความชำนาญและความเคยชินในวิธีก่อสร้างด้วยคอนกรีตและเหล็กในงานก่อสร้างนั้น อาจทำให้เราลืมนึกถึงวันที่เราขาดแคลนทรัพยากรเหล่านี้ เพราะทุกวันนี้เราใช้น้ำมันฟอสซิลมากกว่าที่โลกสามารถผลิตได้ใน 1000 ปีเสียอีก นอกจากนั้นแล้วเมื่อ 7% ของจำนวนก๊าซ CO2 ที่ถูกปล่อยมาในชั้นบรรยากาศของโลกนั้นเกิดขึ้นจากการผลิตซีเมนต์ การเปลี่ยนมาใช้วัสดุชีวภาพอาจจะเป็นโอกาสสำหรับเศรษฐกิจหมุนเวียนในอนาคต การสร้างอาคารที่คำนึงถึงจำนวนคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ยกตัวอย่างเช่นอาคารสูงที่ใช้ไม้เป็นโครงสร้างหลัก แนวคิดอาคารสมดุลคาร์บอน (carbon-neutral building) และ อาคารที่ใช้วัสดุ bio-bsaed สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยการณรงค์จากหลายภาคส่วนโดยเฉพาะภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นการให้สิทธิพิเศษในการก่อสร้างสำหรับอาคารเขียว หรือ การเก็บภาษีคาร์บอนไดออกไซด์ ไม่แน่ในอนาคตการกักกับ CO2 ไว้ในตัวอาคารอาจจะเพิ่มรายได้ ดึงดูดผู้เช่าอาคาร หรือลดหย่อนภาษีแก่ผู้ประกอบการก็เป็นได้