การสื่อสารไร้สุ้มเสียงผ่านสถาปัตยกรรม

การสื่อสารไร้สุ้มเสียงผ่าน สถาปัตยกรรมverasustudio, themomentum, gesture,Tadao Ando

วัดพระธรรมกาย | ทาดาโอะ อันโดะ

ศาสนสถานยังควรคำนึงถึงการใช้อวัจนภาษา (การสื่อสารไร้สุ้มเสียง)ในการออกแบบ เพราะในยุคที่ประชากรโลกบางส่วนยังคงต้องการศาสนาเป็นที่ยึดเหนี่ยว การออกแบบสถาปัตยกรรมที่คำนึงถึงอวัจนภาษาในการสื่อสาร อาจทำให้พื้นที่ทางศาสนามีส่วนช่วยในการสื่อสาร ‘แก่น’ ของตัวศาสนากับผู้คนได้ทั้งทางกายภาพและจิตใจ มากกว่าจะจดจ่ออยู่แต่การแลกเปลี่ยนระหว่างศรัทธากับศาสนาเท่านั้น

Author:
Verasu Sae-Tae

Editor :
Chatrawee Sentanissak
Credits :
Ratio Trakoolsajawat
Year :
September, 2018
Published on :
The Momentum

0
อวัจนภาษา และ สถาปัตยกรรม

เมื่อศาสนาเชื่อมโยงสัมพันธ์กับจิตใจผู้คน วัดหรือศาสนสถานก็เป็นรูปแบบทางสถาปัตยกรรมที่มีความสามารถในการสื่อสารอันทรงพลัง ราวกับสถาปัตยกรรมนั้นพูดได้ มีตัวตนและมีพื้นที่ของมันเอง แม้แต่ผ้าสามสีที่พันรอบเสาปูน ก็สามารถสร้างพื้นที่ในจิตนาการได้ประหนึ่งสิ่งมีชีวิต

ตัวอย่างที่ใกล้ชิดกับเราก็เช่นพุทธสถาน ที่แต่ก่อนเก่ามีแนวคิดการออกแบบให้เสมือนเป็นวิมานบนสวรรค์ ในรูปแบบสถาปัตยกรรมที่มีขนาดใหญ่กว่าสัดส่วนปกติของมนุษย์ ความสูงของตัวอาคาร ขนาดและตำแหน่งของประตู ทรงของหลังคา การตั้งใบเสมารอบอุโบสถทั้งสี่ทิศเพื่อบ่งบอกอาณาเขต รวมถึงการประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ และรูปปั้นนูนต่ำบนผนัง ทั้งหมดนั้นก็เพื่อสร้างภาษาในการสื่อสารถึงความสำคัญของสถานที่ โดยไม่ต้องใช้ถ้อยคำบอกกล่าว

หากเรามองย้อนกลับไปถึงรูปแบบศาสนสถานในอดีตถึงปัจจุบัน หลายสิ่งได้ถูกแปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัย  ในยุคที่สังคมถูกขับเคลื่อนด้วยเศรษฐกิจ รูปทรงหลังคาวัดแบบดั้งเดิมได้ถูกวางอยู่บนผนังกระจกขอบอลูมิเนียม เต็นท์สำเร็จรูปถูกกางที่ลานวัด ปกคลุมอยู่บนองค์พระพุทธรูปและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่รายล้อมไปด้วยกล่องรับบริจาคจำนวนมาก กลายเป็นภาพชินตาที่เราพบเห็นได้ทั่วไป การจัดการทางสถาปัตยกรรมมุ่งเน้นไปที่ประโยชน์ใช้สอย (infrastructure for function) ขณะที่ไม่ได้ทำหน้าที่ในการสื่อสาร (connote meaning) อย่างเดิมเท่าไรนัก

ซึ่งหน้าที่อย่างหลังนี้เอง ที่ผู้เขียน—ในฐานะสถาปนิกคนหนึ่ง พบว่าออกจะน่าสนใจและน่าเสียดาย หากจะถูกละเลยหายไปตามกาลเวลา

1
วัดพระธรรมกาย: อวัจนภาษา ว่าด้วยความยิ่งใหญ่

การออกแบบสถาปัตยกรรมมีส่วนสำคัญอย่างมากในการถ่ายทอดความรู้สึกระหว่างสถานที่และมนุษย์ การตัดสินใจระหว่างการออกแบบ รวมถึงการเลือกวัสดุ คือการแสดงออกโดยนัยยะที่บ่งบอกถึงแนวความคิดของตัวสถาปนิก

การใส่ความหมายแฝง หรือ อวัจนภาษาในงานสถาปัตยกรรมนั้นมีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดความความประทับใจ (impression) หรือ สุนทรียภาพ (aesthetic) ในเชิงพื้นที่ต่อผู้คน โดยอวัจนภาษานั้นสามารถเกิดขึ้นได้จากการใช้สัญลักษณ์ ยกตัวอย่างเช่น การใช้พระพุทธรูปแทนองค์พระพุทธเจ้า เพื่อสร้างพื้นที่ในจินตนาการแก่ผู้ที่มีความศรัทธา หรือ การจัดสรรพื้นที่ทางกายภาพ (physical space) อาทิ การเล่นกับแสงเงา หรือ ปริมาตรทึบและที่เปิดโล่ง (solid and void) เป็นต้น

เพราะความเร่งรีบ หรือ ความละเลยในการใช้ชีวิต เรามองหาความสะดวกสบายรวดเร็ว ไม่ต่างอะไรกับวิธีการออกแบบและก่อสร้างในปัจจุบัน ที่ส่วนใหญ่ยังคงใช้แนวคิดในยุคโมเดิร์นนิสม์ จากช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ต้องการสร้างอาคารด้วยความรวดเร็วด้วยงบประมาณที่น้อยที่สุด ลดทอนสิ่งประดับตกแต่งออกทั้งหมด ซึ่งนั่นก็ไม่ใช่แนวคิดที่ผิด เพียงแต่กลับทำให้เกิดงานสถาปัตยกรรมที่ทำหน้าที่ทั้งการใช้งานและสื่อสารได้อย่างสมบูรณ์แบบน้อยลง

และท่ามกลางแนวคิดในการจำกัดงบประมาณ พบว่ายังคงมีบางศาสนสถานที่ยังให้ความสำคัญกับการสื่อสาร (แน่นอนว่าด้วยงบประมาณอันเหลือเฟือ) ซึ่งนับเป็นกรณีศึกษาน่าสนใจทีเดียว

verasustudio, themomentum, อวัจนภาษา ,วัดพระธรรมกาย
มหาวิหารพระมงคลเทพมุนี วัดพระธรรมกาย จาก www.dmc.tv

หากจะว่ากันที่การสื่อสารผ่านสถาปัตยกรรมเพียงอย่างเดียว วัดพระธรรมกายถือเป็นกรณีศึกษาของการออกแบบศาสนสถานที่มีการคำนึงถึงอวัจนภาษาเป็นอย่างมาก รูปแบบทางสถาปัตยกรรมของวัดมีการจัดวางพื้นที่และการใช้สัญลักษณ์ในงานสถาปัตยกรรมอย่างชัดเจน โดยเฉพาะการหยิบยืมรูปทรงของสถาปัตยกรรมในอดีตมาประยุกต์ใช้

ยกตัวอย่างเช่น มหาวิหารพระมงคลเทพมุนี ที่เริ่มออกแบบในปี พ.ศ.2539 และก่อสร้างเสร็จสิ้นในปี พ.ศ.2549 พบว่าวัดมีแนวคิดในการนำรูปทรง (Typology) ภูเขาของเจดีย์ (Sanchi) ในสมัยพระเจ้าอโศก ในคริสต์ศตวรรษที่ 3 กลับมาใช้ในการก่อสร้างด้วยเทคโนโลยีปัจจุบัน เพื่อสร้างความหมายแฝงในเชิงสัดส่วนที่มีขนาดใหญ่กว่าสัดส่วนปกติของมนุษย์อย่างมหาศาล ส่งผลให้เกิดการรับรู้ถึงความยิ่งใหญ่ของศาสนสถานต่อผู้เข้านมัสการซึ่งถือเป็นจุดมุ่งหมายหลักของวัดพระธรรมกาย

การออกแบบวิหารของวัดพระธรรมกายอาจสามารถใช้อวัจนภาษาในการเพิ่มสุนทรียภาพในเชิงพื้นที่ได้มากกว่านี้ เพราะการที่รูปด้านบนวิหารเป็นเนินภูเขา (elevation) ที่มีโดมทรงกลมอยู่ด้านบน ขณะที่ในความเป็นจริง ผู้ปฏิบัติธรรมไม่สามารถสัมผัสหรือรับรู้ลักษณะพื้นที่ทรงกลมนั้นได้ ความขัดแย้งระหว่างรูปด้านและรูปตัด (section) ของตัววิหาร ทำให้ผู้ศรัทธาสัมผัสเพียงพื้นวงกลมในแบบสองมิติของฝ้าเพดานในส่วนของห้องโถงเท่านั้น

วัดธรรมกาย verasustudio, themomentum, อวัจนภาษา ,วัดพระธรรมกาย
โถงภายในมหาวิหารพระมงคลเทพมุนี วัดพระธรรมกาย จาก www.dmc.tv

อย่างไรก็ตาม วัดพระธรรมกายยังมีความเชี่ยวชาญอย่างมาก ในการกำหนดพื้นที่ของผู้ที่จะเข้ามาร่วมศาสนพิธี การนั่งเป็นวงกลมและจำนวนของผู้ปฏิบัติ ซึ่งทุกคนนั่งหันไปที่จุดศูนย์กลางที่มีพระพุทธรูปตั้งอยู่ สื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ในห้องโถงที่ไม่มีการตกแต่งใด ในนัยหนึ่ง สื่อได้ถึงสิ่งที่อยู่ตรงกลางโถงว่าเป็นคล้ายกับศูนย์กลางของจักรวาล และอีกนัยหนึ่งยังเป็นการใช้สถาปัตยกรรมเชิงพื้นที่ที่ช่วยส่งเสริมพื้นที่ทางศาสนาให้ฝังแน่นอยู่ในจินตนาการผู้ปฏิบัติธรรม เมื่อหลับตาลงภาพจำของพื้นที่จริงจะยังคงถูกสร้างขึ้นในหัว

ด้วยเครื่องมือและวิธีการอันทรงพลังแม้แต่ในงานออกแบบสถาปัตยกรรม จึงไม่น่าแปลกใจที่วัดแห่งนี้จะสามารถเรียกผู้ศรัทธาได้เป็นจำนวนมากอย่างที่เราเห็น

แต่การใช้อวัจนภาษาของวัดพระธรรมกายเป็นเพียงรูปแบบหนึ่งเท่านั้น อันที่จริง ภาษาในงานสถาปัตยกรรมนั้นไม่จำเป็นที่จะต้องแสดงถึงความยิ่งใหญ่ของตัวโครงสร้างเสมอไป แต่สามารถเลือกแนวคิดทางสถาปัตยกรรมที่แสดงถึงความเรียบง่ายหรือกลมกลืนไปกับธรรมชาติ ความสมดุลระหว่างสถาปัตยกรรมกับสภาพแวดล้อม หรือบริบทนั้นสามารถสื่อถึงอวัจนภาษาได้เช่นกัน

2
งานของทาดาโอะ อันโดะ: อวัจนภาษา
ว่าด้วยความเรียบง่ายและสมดุล

verasustudio, themomentum, gesture,Tadao Ando
verasustudio, themomentum, gesture,Tadao Ando

พระประธานในวิหารของวัด Makomanai Takino
เมือง ซัปโปโร ประเทศญี่ปุ่น

งานสถาปัตยกรรมแห่งสุสานมาโคมานาอิ ทาคิโนะ (Makomanai Takino Cemetery) ของ สถาปนิกญี่ปุ่น ทาดาโอะ อันโดะ (Tadao Ando) ที่เพิ่งสร้างเสร็จในปี 2017 ณ เมือง ซัปโปโร ประเทศญี่ปุ่น คือการออกแบบศาสนสถานที่สามารถอธิบายลักษณะการใช้อวัจภาษาในรูปแบบที่กลมกลืนไปกับธรรมชาติได้ชัดเจน

งานชิ้นนี้เป็นสถาปัตยกรรมที่สงบนิ่งราวกับหายไปกับสภาพแวดล้อม ทาดาโอะ อันโด เป็นสถาปนิกชาวญี่ปุ่นที่มีชื่อเสียงอย่างมากในวงการสถาปัตยกรรม เขาสร้างศาสนสถานให้กับหลายศาสนา และสามารถถ่ายทอดความเชื่อของแต่ละศาสนา ผ่านการออกแบบอวัจนภาษาในงานสถาปัตยกรรมได้อย่างลงตัวที่สุด

การออกแบบของอันโดะเน้นการนำแสงธรรมชาติเข้ามาในงานสถาปัตยกรรม โดยเคล็ดลับในการใช้แสงของเขาคือการรู้จักสร้างความมืดให้ถูกที่ การประสานระหว่างแสงและเงา การออกแบบให้พื้นที่มืดค่อยๆ สว่างขึ้น ในทั้งพื้นที่ทึบและพื้นที่ว่าง

จะเห็นได้จากงานออกแบบวัดมาโคมานาอิที่มีการออกแบบทางเข้าเป็นอุโมงค์เพื่อให้คนที่เข้ามาผ่านความมืดก่อนที่จะพบกับช่องแสงในตัววิหารที่องค์พระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ ซึ่งเปรียบเสมือนการเดินทางผ่านความมืดสู่แสงสว่างของชีวิต ซึ่งอันโดะเองเคยกล่าวว่า ในงานของเขานั้น การใช้แสงเป็นตัวควบคุมที่สำคัญ เช่นการใช้ผนังคอนกรีตที่มีความหนาเพื่อการสร้างพื้นที่ปิดที่มีความเป็นส่วนตัว ตัดออกจากบริบทรอบตัว แล้วทำให้พื้นภายในนั้นเกิดความพิเศษจากการควบคุมแสงและเงาในการออกแบบของเขานั่นเอง

อุโมงค์วัด Makomanai Takino

การออกแบบของอันโดะมีการใช้อวัจนภาษาที่สามารถสร้างที่ว่างที่มีความหมายแฝง และเชื่อมโยงกับมนุษย์อยู่หลายจุด อย่างแรกคือการออกแบบทางเดิน (circulation) ก่อนที่จะเข้าถึงองค์พระพุทธรูปนั้นเป็นการออกแบบที่กำหนดความรับรู้ของผู้เข้าชมให้เห็นภาพตามลำดับอย่างที่เขาต้องการ เพื่อสื่อสารกับผู้เข้าชมถึงแนวคิดอันเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติของศาสนา ไม่ว่าจะเป็น เนินเขาดอกลาเวนเดอร์ บ่อน้ำ และอุโมงค์มืด

หลังจากชมความงดงามของลาเวนเดอร์กว่า 150,000 ต้น และความสงบของผืนน้ำ การเดินผ่านอุโมงค์มืดที่ค่อยๆ สว่างขึ้น และเมื่อแหงนมองขึ้นจะก็เห็นเศียรพระพุทธรูปที่มีฉากหลังเป็นท้องฟ้า คือวิธีส่งสารเข้าสู่อารมณ์ความรู้สึกของผู้เยี่ยมชมได้อย่างลึกซึ้ง อีกทั้งอารมณ์และบรรยากาศที่เกิดขึ้นจะมีความหลากหลายขึ้นอยู่กับช่วงเวลาต่างๆ ของวัน และการยอมให้ฝนตกลงมาถูกตัวพระก็ถือเป็นการใช้อวัจนภาษาที่ชวนจดจำ

ในปัจจุบันสถาปัตยกรรมมักถูกสร้างให้ป้องกันผลกระทบจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง กันแดด กันฝน และกันลม จนเราหลงลืมการเชื่อมโยงกับธรรมชาติ ดังนั้นวัสดุที่เป็นคอนกรีตเปลือย นอกจากจะเป็นลายเซ็นของอันโดะไปแล้ว ในงานชิ้นนี้ยังสามารถสื่อถึงความเชื่อทางพุทธศาสนา การละทิ้ง ลดทอนกิเลส การกลับสู่อนัตตาหรือความว่างเปล่าได้ด้วย

รูปวาดของทาดาโอะ อันโดะ

สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นอวัจนภาษาที่ทำให้วัดของอันโดะมีความโดดเด่น และเข้าถึงจิตใจของผู้มาเยี่ยมชมได้เป็นอย่างดี เราจะสังเกตได้ว่า ภาษาทางสถาปัตยกรรมที่ใช้นั้นแตกต่างกับมหาวิหารของทางวัดพระธรรรมกาย ที่มีเจดีย์ทรงกลมสีทองขนาดใหญ่ ประหนึ่งว่ากำลังเรียกร้องความสนใจจากผู้คนว่า “มองฉันสิ ฉันสำคัญนะ” พร้อมบอกเล่าถึงความยิ่งใหญ่อันวิจิตรของศาสนาพุทธ

ความแตกต่างนี้เองที่ทำให้วัดทั้งสองมีลักษณะเฉพาะตัวกันไปคนละแบบ มีบรรยากาศและอารมณ์ของพื้นที่ที่แตกต่างกัน สะท้อนการตีความหรือการธำรงพุทธศาสนาในยุคสมัยใหม่ได้น่าสนใจทีเดียว

และในมุมมองของผู้เขียนเอง ศาสนสถานยังควรคำนึงถึงการใช้อวัจนภาษาในการออกแบบ เพราะในยุคที่ประชากรโลกบางส่วนยังคงต้องการศาสนาเป็นที่ยึดเหนี่ยว การออกแบบสถาปัตยกรรมที่คำนึงถึงอวัจนภาษาในการสื่อสาร อาจทำให้พื้นที่ทางศาสนามีส่วนช่วยในการสื่อสาร ‘แก่น’ ของตัวศาสนากับผู้คนได้ทั้งทางกายภาพและจิตใจ มากกว่าจะจดจ่ออยู่แต่การแลกเปลี่ยนระหว่างศรัทธากับศาสนาเท่านั้น

CREDITS

  • https://www.archdaily.com/101260/ad-classics-church-of-the-light-tadao-ando
  • http://takinoreien.com/?page_id=168