ส่องบ้าน ‘Case Study house’ ในแคลิฟอร์เนีย

verasustudio, themomentum,ส่องบ้าน ‘Case Study house’ ในแคลิฟอร์เนีย

ความล้ำจากยุคหลังสงครามโลกที่สุดท้ายตอบโจทย์แค่คนรวย?

มีการบันทึกภาพถ่ายของโครงการ The Case Study Houses ในกับนิตยสาร Art & Architecture ที่ถ่ายทอดภาพวิถีชีวิตหลังยุคสงครามที่ผู้คนมองหาชีวิตร่วมสมัย แต่ภาพที่ออกมากลับสะท้อนภาพของ ‘คนรวย’ ซึ่งย้อนแย้งกับอุดมการณ์แรกเริ่ม

Authors:
Verasu Sae-Tae

Credits :
Chatrawee Sentanissak (editor)
เรโช ตระกูลสัจจาวัตร (proof-read)
Year:
25 February 2019
Published on :
The Momentum

Case Study House Program

หากเราพูดถึงบ้านตัวอย่างในสมัยนี้ คนมักจะนึกถึงการไปชมบ้านตามโครงการบ้านจัดสรรหรือโชว์รูมห้องของคอนโดมิเนียม บ้านตัวอย่างเหล่านี้คือแบบจำลอง 3 มิติจากงานออกแบบของสถาปนิก ที่ให้เราสามารถเดินเข้าไปในแต่ละมุมห้องของบ้านพร้อมกับจิตนาการวิถีชีวิตของตนในบ้านหลังนั้นๆ ไปด้วย

ในทางตรงกันข้าม ย้อนกลับไปเมื่อค.ศ. 1945 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุด โครงการบ้านตัวอย่างทดลอง ‘The Case Study Houses’ ในเมืองลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกาได้ก่อตั้งขึ้น คำว่า ‘บ้านตัวอย่าง’ ในสมัยนั้นไม่ได้เป็นแค่เพียงแบบบ้านจำลองเท่านั้น แต่มันคือการทดลองออกแบบบ้านในภาวะที่ผู้คนขาดแคลนที่อยู่อาศัย วัสดุก่อสร้าง รวมถึงการกลับมาของทหารจำนวนมาก และความต้องการพัฒนาและซ่อมแซมเมืองอย่างเร่งด่วนในยุคที่สงครามโลกสิ้นสุด

การทดลองครั้งนี้ที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากจากนักลงทุนอสังหาริมทรัพย์หรือผู้รับเหมา แต่เกิดจากแนวคิดของ จอห์น เอนเทนซา (John Entenza) บรรณาธิการของสำนักพิมพ์ของนิตยสาร Art & Architecture เขาคือผู้มีอิทธิพลในแถบแคลิฟอร์เนียตอนใต้ ที่ผันตัวเองมาเป็นลูกค้า จ้างนักออกแบบและสถาปนิกที่มีชื่อเสียงในสมัยนั้นให้ออกแบบบ้านตัวอย่าง โครงนี้เริ่มต้นขึ้นในปี ค.ศ. 1945 และสิ้นสุดใน ค.ศ. 1966 รวมระยะเวลา 17 ปี โดยมีจุดประสงค์ที่จะค้นหาวิถีการดำเนินชีวิตใหม่และการพัฒนาคุณภาพชีวิตหลังยุคสงคราม เน้นเรื่องการออกแบบบ้านที่มีราคาไม่แพง มีประสิทธิภาพและยังเป็นการทดลองวัสดุก่อสร้างที่ถูกพัฒนาในช่วงสงครามถูกนำกลับมาใช้ในการงานออกแบบ เช่นการใช้โครงเหล็กในการก่อสร้าง การใช้วัสดุที่น้ำหนักที่เบา วัสดุโปร่งแสง และวัสดุที่ทนต่อฝนและแดด โครงการนี้มีบ้านที่ถูกออกแบบทั้งหมด 36 หลัง แต่ไม่ใช่ทุกหลังที่ถูกสร้างขึ้นจริง

สิ่งที่แตกต่างกันในคำนิยามของ ‘บ้านตัวอย่าง’ ในสมัยนั้นและปัจจุบัน คือการที่ในสมัยนั้นมองว่าการออกแบบคือการทดลองเพื่อค้นหาวิถีชีวิตในรูปแบบใหม่ ไม่ใช่เพียงแต่สร้างบ้านในรูปแบบเดิมๆ ซึ่งหากเรามองในบริบทของยุค 40s-50s ที่โดยส่วนใหญ่บ้านสร้างจาก ไม้ อิฐ หรือ คอนกรีต รวมทั้งยังมีการประดับตกแต่งมากมาย โครงการบ้านตัวอย่างนี้ได้ฉีกกรอบการออกแบบด้วยการสร้างสถาปัตยกรรมที่มีความเรียบง่ายด้วยเสาเหล็กและกระจก ลดทอนอลงกรณ์เครื่องประดับตกแต่งอาคารออกแทบจะโดยสิ้นเชิง

1
Case Study —#21

verasustudio, themomentum, ส่องบ้าน ‘Case Study’ ในแคลิฟอร์เนีย ความล้ำจากยุคหลังสงครามโลกที่สุดท้ายตอบโจทย์แค่คนรวย?
Case Study —#21 photo by Grant Mudford, Archdaily

ปิแอร์ โคนิก (Pierre Koenig) คือสถาปนิกผู้ออกแบบ บ้านกรณีศึกษาหลังที่ 21 อันโด่งดัง สร้างเสร็จในปี 1958 เขาเริ่มใช้เหล็กในงานออกแบบเมื่อปี ค.ศ. 1950 ในการทำงาน เขาจะเน้นเรื่องประโยชน์ใช้สอยและ ความงามของวัสดุ หรือ ที่เรียกว่า ‘สัจจะวัสดุในโครงสร้าง’ โดยผิวเผินบ้านกรณีศึกษาหลังที่ 22 นี้อาจจะดูเรียบง่ายแต่แฝงความซับซ้อนในการวางพื้นที่และโปรแกรมของบ้าน การออกแบบเน้นความกลมกลืนระหว่างการตกแต่งภายนอกและภายใน การใช้ระเบียง น้ำ กระจก การจัดสวน วัสดุของพื้นผิว และช่องแสงบนหลังคา ที่สร้างมุมมองที่เชื่อมต่อกัน ทำให้อาณาเขตบ้านดูเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และยังทำให้บ้านดูใหญ่ขึ้นไปอีก

สิ่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งในงานของโคนิก คือการใช้สระน้ำในงานออกแบบ ที่ช่วยทั้งการจัดวางพื้นที่และช่วยลดความร้อนในช่วงหน้าร้อน โดยน้ำจะถูกสูบจากสระไปที่รางน้ำบนหลังคา จะปล่อยลงมาเป็นม่านน้ำ ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมใหม่ในสมัยนั้น

verasustudio, themomentum, ส่องบ้าน ‘Case Study’ ในแคลิฟอร์เนีย ความล้ำจากยุคหลังสงครามโลกที่สุดท้ายตอบโจทย์แค่คนรวย?
Case Study —#21 Photo by Julius Shulman in 1958

อีกมิติหนึ่งของบ้านกรณีศึกษาหลังที่ 21 นี้ ที่ถูกทอดถ่ายทอดผ่านภาพถ่ายของจูลิอัส ชัลแมน (Julius Shulman) ช่างภาพคนสำคัญที่บันทึกภาพถ่ายของโครงการ The Case Study Houses ในกับนิตยสาร Art & Architecture ที่ถ่ายทอดภาพวิถีชีวิตหลังยุคสงครามที่ผู้คนมองหาชีวิตร่วมสมัย ภาพถ่ายนี้มีนัยยะแฝงหลายอย่างทีเดียว

เราจะเห็นคู่สามีภรรยาสวมเสื้อผ้าในสไตล์โมเดิร์นกำลังใช้ชีวิตย่างมีความสุขในบ้านโปร่งโล่งสบาย หากแต่เต็มไปด้วยเฟอร์นิเจอร์ราคาแพง ต้นไม้ รวมถึงอุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์ เป็นภาพที่เต็มไปด้วยฝันและความหวังของการเริ่มต้นชีวิตหลังสงครามและการย้ายถิ่นฐาน ในความเป็นจริงนั้นตัวผู้ชายในภาพก็คือตัวสถาปนิกที่ออกแบบบ้านหลังนี้เอง ส่วนผู้หญิงในภาพนั้นคือนางแบบที่ถูกจ้างมา ซึ่งที่สุดแล้ว มันกลายเป็นความย้อนแย้งอันน่าขบขัน ขัดกับอุดมการณ์เริ่มต้นของโครงการ ที่ต้องออกแบบบ้านราคาถูก แต่ผลของมันกลับเป็นการออกแบบบ้านกรณีศึกษาเป็นสิ่งที่มีต้นทุนสูง สุดท้ายแล้วบ้านตัวอย่างในโครงการนี้ได้กลายเป็นบ้านสำหรับกลุ่มคนที่มีฐานะและในปัจจุบันก็มีราคามากกว่าค่าก่อสร้างเดิมหลายเท่า ส่วนคนทั่วไปคงได้แต่ไปเที่ยวชมในฐานะนักท่องเที่ยวขาจรเสียมากกว่า

ภาพบ้านกรณีศึกษาหลังอื่นๆ ที่สร้างขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน

2
Future Case Study Houses

อย่างไรก็ตามวิถีชีวิตที่ถูกสร้างขึ้นในโครงการ Case Study House ในลอสแอนเจลิสเป็นสิ่งที่น่าสนใจและยังมีความเชื่อมโยงมาถึงงานสถาปัตยกรรมในยุคปัจจุบันมากมาย ไม่ว่าจะเป็นคอนโดใจกลางเมือง บ้านจัดสรรที่ต้องการขายวิถีชีวิตที่ดีขึ้น ขายความสะดวกสบาย และการมุ่งสู่ ‘อนาคต’ ซึ่งโดยส่วนมาก การออกแบบสถาปัตยกรรมประเภทนี้จะถูกขับเคลื่อนโดยกลไกทางเศรษฐกิจและนโยบายของภาครัฐเป็นสำคัญ

สิ่งที่ขาดหายไปเมื่องานออกแบบถูกครอบด้วยผลกำไร ก็คือการทดลองในการออกแบบเพื่อสร้างสรรวิถีชีวิตรูปแบบใหม่ๆ ไอเดียที่น่าสนใจมากมายได้เกิดขึ้นในสถาปัตยกรรมกลุ่มอื่นแทน ไม่ว่าจะเป็น ไอเดียเกี่ยวกับ share-living หรือ co-working ซึ่งส่งผลอย่างมากในงานออกแบบสถาปัตยกรรมและการวางแปลนตัวอาคารให้มีประสิทธิภาพเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้  

หากเราคิดไปถึงในอนาคตและตั้งคำถามว่า สถาปัตยกรรมในลักษณะใดที่จะสามารถตอบสนองความต้องการอันหลากหลายของกลุ่มคนจำนวนมากได้ เมื่อลักษณะของ ‘บ้านเดี่ยว’ อาจไม่ตอบโจทย์ของสังคมมวลรวมอีกต่อไป ทุกวันนี้รูปแบบการก่อสร้างแบบ mass production ของตัววัสดุและโครงสร้างอาคารถูกใช้กันอย่างแพร่หลาย พวกเรามีความชำนาญมากในการผลิตของจำนวนมากในเวลานั้นรวดเร็ว แล้วจะเป็นไปได้ไหม หากเราจะสามารถสร้างสถาปัตยกรรมในรูปแบบของ mass customization ที่รวมความหลากหลายของห้องไว้ในตึกเดียวกัน

คำตอบบางส่วนอาจอยู่ในผลงานบ้านทดลอง The Why Factory (T?F) ของ Delft University of Technology และ MVRDV กลุ่มสถาปนิกชาวดัตช์ ที่จำลองสถาปัตยกรรมในอนาคตที่พยายามจะทำลายกรอบในการออกแบบที่ยึดติดในรูปแบบเดิมๆ ด้วยการออกแบบห้องจากความต้องการของคนที่ต่างแตกกัน จัดแสดงในงาน Dutch Design Week ในปี 2017 ที่ผ่านมา

verasustudio, themomentum, ส่องบ้าน ‘Case Study’ ในแคลิฟอร์เนีย ความล้ำจากยุคหลังสงครามโลกที่สุดท้ายตอบโจทย์แค่คนรวย?
verasustudio, themomentum, ส่องบ้าน ‘Case Study’ ในแคลิฟอร์เนีย ความล้ำจากยุคหลังสงครามโลกที่สุดท้ายตอบโจทย์แค่คนรวย?
Future City Products – The Why Factory & MVRDV for Dutch Design Week in 2017

ความหลากหลายในพื้นที่ทำให้เกิดรูปตัดที่ซับซ้อน สร้างพื้นที่ที่มีความกว้างยาว และสูงแตกต่างกัน บ้านกรณีศึกษานี้ตั้งคำถามให้กับสถาปัตยกรรมในอนาคต และตัวสถาปนิกเอง ว่าจะนำความปรารถนาที่แตกต่างกันสื่อของมาในงานสถาปัตยกรรมได้อย่างไร เราสามารถออกแบบห้องน้ำที่มีฝักบัวอยู่สูงสัก 6 เมตรให้เหมือนเราอาบน้ำจากน้ำตกได้ไหม ถ้านั่นคือผู้ต้องการของผู้อยู่อาศัย เมื่อ ‘บ้านตัวอย่าง’ ไม่ได้เป็นเพียงแบบจำลองเพื่อใช้ในการขายอสังหาริมทรัพย์ แต่ถูกนำมาใช้ให้เป็นเครื่องมือหนึ่งในการเข้าถึงความต้องการของผู้อยู่อาศัย จะทำให้เกิดสถาปัตยกรรมสำหรับการอยู่อาศัยรูปแบบใหม่ที่ผู้อยู่อาศัยมีส่วนร่วมกับสถาปนิกในการออกแบบพื้นที่ตามความต้องการอย่างแท้จริง เพราะจริงๆ แล้ว เราไม่จำเป็นต้องยึดติดกับคำนิยามเดิมๆ ของห้องนั่งเล่น ห้องครัว ห้องนอน หรืออื่นๆ หากเราสามารถสร้างนิยามคำว่าบ้านของเราได้เอง